เฮเฟสทัส
ฮเฟสทัส (Hephaestus) หรือ วัลแคน (Vulcan) เป็นเทพอัคคี เทพแห่งภูเขาไฟ เตาหลอม โลหกรรม และงานช่าง ตามเทพนิยายปรัมปราของกรีกโบราณ ทั้งยังเป็น 1 ใน 12 เทพแห่งโอลิมปัส ซึ่งเป็นเทพเจ้าระดับสูง (สุด) ของชาวกรีก แต่เชื่อหรือไม่ว่า เทพองค์นี้ อาจเป็นเทพเจ้าผู้ถูกบูลลี่มากที่สุด เมื่อเทียบกับระดับ หรือยศฐาบรรดาศักดิ์ที่เป็นอยู่
ตำนานกล่าวว่า เฮเฟสทัส เป็นบุตรของพระนางเฮรา (Hera) มเหสี (อย่างเป็นทางการ) ของมหาเทพซุส (Zeus) เทวราชาแห่งโอลิมปัส บางตำนานบอกว่า เฮเฟสทัสเป็นบุตรของซุสองค์เดียว เนรมิตขึ้นเองด้วยอิทธิฤทธิ์แห่งเทพเจ้า แต่ที่เชื่อถือกันมากที่สุดคือ เฮเฟสทัสเป็นบุตรของเฮราเพียงองค์เดียว โดยกำเนิดจากความโกรธแค้นของพระนาง เมื่อทราบว่า ซุสให้กำเนิดเทพีอธีนาแต่เพียงลำพัง และจากที่มาดังกล่าว ดูเหมือนจะส่งผลต่อรูปลักษณ์ของเทพองค์นี้อยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว
เพราะในบรรดาอมตชนแห่งโอลิมปัส รูปกายอันงดงามสมบูรณ์พร้อมคือลักษณะทางกายภาพพื้นฐานที่สุดของทวยเทพทุกองค์ เว้นแต่เพียงเฮเฟสทัสที่เป็นเทพองค์เดียวที่มีรูปกายไม่สะกดสายตาผู้ใดเลย แถมมีขาพิกลพิการ หรือว่ากันตรง ๆ แบบไม่เกรงใจก็คือ เป็นเทพ “อัปลักษณ์”
จากรูปลักษณ์ข้างต้นนำไปสู่ตำนานอื่น ๆ ที่ย่ำยีเทพเฮเฟสทัสเสียจนน่าเวทนา ทั้งที่พระองค์เป็นถึงบุตรของเทวราชินีแห่งโอลิมปัส ในตอนหนึ่งของมหากาพย์ อิเลียด (Iliad) เฮเฟสทัสเคย “แฉ” เทพมารดาว่า ช่างไร้ความละอายแก่ใจถึงขนาด “เขี่ย” พระองค์ทิ้งจากโอลิมปัส เมื่อพบว่า บุตรถือกำเนิดมาพร้อมรูปลักษณ์ไม่พึงประสงค์ และมีขาพิการ
อีกตอนหนึ่งในมหากาพย์ ซึ่งเป็นเนื้อความที่แพร่หลาย และถูกบอกเล่ามากกว่าเรื่องแรกระบุว่า มหาเทพซุส คือผู้กระทำเรื่องดังกล่าว (เขี่ยตกโอลิมปัส) เนื่องจากทรงพิโรธที่เฮเฟสทัสพยายามปกป้องเทพมารดา
ถึงตรงนี้ต้องขอขยายความเสียหน่อยว่า ซุสกับเฮรา คือตัวอย่างที่ชัดเจนของคู่สมรสที่วิวาทกันบ่อยครั้งมาก แม้ทั้งคู่จะเป็นถึงเทวราชา-ราชินีแห่งโอลิมปัสก็ตาม ซึ่งสาเหตุก็ไม่พ้นเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ ของซุส ที่มักเที่ยวไป “ไข่” ไว้ทั่วสรวงสวรรค์ และโลกมนุษย์ และในจังหวะอลหม่านนั้น เฮเฟสทัสผู้น่าสงสารคงเข้าไปยื้อยุดเฮราให้รอดพ้นจากพิโรธของซุส จนพระองค์กลายเป็นเป้ารับแรงแห่งความโกรธานั้นเสียเอง
จะด้วยความไม่สบอารมณ์เรื่องชาติกำเนิด (อันเป็นปฏิปักษ์ต่อซุสอยู่กลาย ๆ) หรือเพราะรูปลักษณ์อันไม่น่าอภิรมย์ ไม่คู่ควรกับถิ่นพำนักอันทรงเกียรติของเทพ “เทียร์ 1” อย่างโอลิมปัส (หรืออาจจะทั้งคู่) มหาเทพซุสเปลี่ยนเป้าหมายจากเทวราชินีคู่บารมีมากระทำต่อบุตรผู้มีชาติกำเนิดน่ากังขาอย่างเฮเฟสทัสแทน
บทกวีของมิลตัน มัลซิเบอร์ ฉบับแปลไทยโดย นพมาส แววหงส์ ใน “ปกรณัมปรัมปรา ตำนานเทพและวีรบุรุษกรีก-โรมัน-นอร์ส” เขียนโดยเอดิธ แฮมิลตัน (อมรินทร์, 2564) ว่าไว้ดังนี้
ถูกโจฟ [จูปิเตอร์ – ชื่อโรมันของซุส] พิโรธจับโยนลง
ดิ่งจากเชิงเทินแก้วผลึก
ร่วงหล่นจากเช้าตราบเที่ยง จากเที่ยงตราบเย็นย่ำ
ในวันคิมหันตฤดู และเมื่ออาทิตย์ลับฟ้า
หล่นจากยอดสุดเหมือนดาวตก
สู่เกาะเลมนอสในทะเลอีเจียน
เห็นแบบนี้ก็อดคิดไม่ได้ว่า ทวยเทพผู้ทรงอานุภาพเหนือธรรมชาติทั้งมวล แต่มีเรื่องราวคุกรุ่นที่อบอวลไปด้วยมวลแห่งการปะทะกันด้วยอารมณ์จนเรียกได้ว่า “ใช้อารมณ์นำทาง” บ่อยครั้งเหมือนกัน เพราะหากย้อนไปเรื่องต้นกำเนิด เฮเฟสทัสเองก็อุบัติขึ้นจากมวลอารมณ์ไม่สมฤดีเท่าใดนักของเทวราชินีเฮราเช่นกัน
ถึงกระนั้น เรื่องราวเหล่านี้คือปรัมปราที่ล้วนถูกรังสรรค์ ดัดแปลง เติมต่อกันมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า จากคำอ้างอิงของโฮเมอร์ (Homer) เทพเฮเฟสทัสไม่ได้อยู่ท่ามกลางการเดียดฉันท์จากทวยเทพที่โอลิมปัสแต่อย่างใด แต่พระองค์ยังได้รับเกียรติเสมอเทพองค์อื่นและถูกยกย่องอย่างสูงด้วย ทั้งเป็นเทพแห่งช่างฝีมือประจำโอลิมปัส ผู้สรรสร้างเทพศาสตรา เทวเคหสถาน และงานโลหะทั้งปวงแก่เหล่าทวยเทพ
เป็นที่มาของสมญานาม “เทพอัคคี” ของเฮเฟสทัส เพราะงานช่างทั้งปวงล้วนถูกสร้างสรรค์จากเปลวเพลิงหรือความร้อนเป็นตัวนำทั้งสิ้น
ว่ากันว่าตำหนักช่างของเทพเฮเฟสทัสมีเหล่าเหมนารี หรือ สตรีผู้ช่วยงานช่างที่พระองค์เนรมิตขึ้นจากทองคำเพื่อมาเป็นลูกมือคอยช่วยงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย
กวีชาวโรมันในสมัยหลังมักพรรณาถึงตำหนักช่างของพระองค์ว่าอยู่ใต้ภูเขาลูกต่าง ๆ เพื่ออธิบายสาเหตุการประทุของภูเขาไฟ และตอกย้ำสถานะ “เทพแห่งภูเขาไฟ” จะเห็นว่าทั้งนาม เฮเฟสทัส ในภาษากรีก และ วัลแคน ในภาษาโรมัน ต่างหมายถึง ภูเขาไฟ ทั้งสิ้น (Iphaístio และ Volcano ตามลำดับ)
ตำนานเล่าด้วยว่าเฮเฟสทัสมีบุคลิกที่สวนทางกับรูปลักษณ์ของพระองค์อย่างสิ้นเชิง เพราะเป็นเทพเจ้าที่รักสงบ ใจดี จนเป็นที่รักใคร่ของทั้งมนุษย์และทวยเทพ กระนั้นชาวกรีกและโรมันก็หวั่นเกรงพลังของเทพเฮเฟสทัสในฐานะเทพแห่งภูเขาไฟ ภัยพิบัติที่คุกคามพวกเขา ซึ่งก็เข้าใจได้ไม่ยากจากประวัติศาสตร์การปะทุของภูเขาไฟในยุคกรีก-โรมัน เช่น การปะทุแห่งมิโนนัน (Eruption minoenne) ภูเขาไฟใต้ทะเลอันเป็นต้นกำเนิดของเกาะซานโตรินี นอกชายฝั่งกรีซ และการปะทุของภูเขาไฟวิสุเวียส (Eruption of Mount Vesuvius) หายนะแห่งปอมเปอี
ประติมากรรมเทพเฮเฟสทัส หรือวัลแคน, ผลงานของ Bertel Thorvaldsen (ภาพจาก Wikimedia Commons / Thorvaldsens Museum)
แม้จะมีจุดด้อยเรื่องรูปลักษณ์ แต่ชายาของเฮเฟสทัสเป็นหนึ่งในสามจอมเทพีผู้เลอเลิศด้านความงามในมหากาพย์อิเลียด ซึ่งเฮซิออดขนานนามว่า “อะเกลอา” แต่คนส่วนใหญ่จะคุ้นชื่อพระนางจากมหากาพย์โออิสซีย์ (Odyssey) ว่า “อะโฟรไดท์” (Aphrodite) หรือ วีนัส (Venus) ของฝั่งโรมัน คงไม่ต้องสาธยายความงามของพระนางให้ยืดเยื้อ เพราะพระนางคือเทพีแห่งความรัก ความลุ่มหลง มัวเมา และความงาม ในส่วนความพึงพอใจของพระนางต่อคู่สมรสอย่างเทพเฮเฟสทัส เป็นสิ่งที่ต้องไปวิเคราะห์กันเอาเอง เพราะมีตำนานเล่าไว้ (อีกแล้ว) ว่า เทพีอะโฟรไดท์ลักลอบเป็นชู้กับแอเรส (Ares) เทพโอลิมปัสอีกองค์ซึ่งเป็นบุตรของซุสกับเฮราเช่นกัน
ในยุคกรีกโบราณ เทพเฮเฟสทัสและเทพีอธีนามีอิทธิพลต่อเมืองเอเธนส์สูงมาก ทั้งสองเป็นเทพอุปถัมภ์งานฝีมือและศิลปกรรมต่าง ๆ รวมถึงงานเกษตรกรรมอันเป็นรากฐานสำคัญของอารยธรรมแรกกำเนิดทั้งปวงของมนุษย์ เฮเฟสทัสคือเทพแห่งช่างและโลหกรรม ส่วนอธีนาคือเทพีแห่งหัตถกรรม (งานถักทอ) และหากมีการเจิมเพื่อยอมรับเด็ก ๆ เข้าร่วมงานพิธีต่าง ๆ ภายในเมืองอย่างเป็นทางการ เทพเจ้าแห่งพิธีการนั้นคือเฮเฟสทัสด้วยเช่นกัน
จะเห็นว่า แม้เทพเฮเฟทัสจะมีต้นกำเนิดแปลกประหลาดชวนสงสัย และรูปลักษณ์ไม่งดงามสมความเป็นเทพเจ้า แต่พระองค์คือเทพเจ้าองค์สำคัญที่อยู่เบื้องหลังความเจริญรุ่่งเรืองไม่เพียงแค่บนสรวงสวรรค์ แต่รวมถึงอารยธรรมมนุษย์ในฐานะผู้นำพางานช่าง เพราะคุณค่า (ที่แท้จริง) ย่อมอยู่ที่ผลงาน หาใช่รูปลักษณ์…