top of page
bggh.jpg

วัลคีรีส์ นางฟ้าแห่งความตาย

image.png

ในตำนานนอร์ส วัลคีรีส์ (อังกฤษ: valkyrie, นอร์ส: valkyrja) หรือที่บางครั้งก็เรียกว่า วัลเคียร์ (Valkyre) หมายถึงเหล่าข้าราชบริพารหญิงของจอมเทพโอดิน ชื่อนี้มีความหมายในภาษาอังกฤษว่า Chooser of the Slain (ผู้คัดเลือกเหล่าผู้วายปราณ)

 

คำว่า valkyrie มาจากภาษานอร์สโบราณ valkyrja (valkyrjur, พหูพจน์) ซึ่งประกอบด้วยคำสองคำครับ

 

คือ คำนาม valr หมายถึง ผู้ตายในสนามรบ และคำกิริยา kjósa แปลว่า เลือก เมื่อนำมารวมกันแปลว่า "ผู้คัดเลือกผู้ตาย"

 

คำว่า valkyrja ในภาษานอร์สโบราณยังเป็นรากศัพท์ของคำ wælcyrge ในภาษาอังกฤษเก่าอีกด้วย

 

ชื่ออื่นๆ ของวัลคีรีส์ประกอบด้วย óskmey "เด็กสาวแห่งคำอวยพร" เป็นภาษานอร์สโบราณ ซึ่งปรากฏในบทกวี Oddrúnargrátr และ Óðins meyjar "เด็กสาวของโอดิน" ซึ่งปรากฏใน Nafnaþulur Óskmey

 

และยังอาจเกี่ยวข้องกับพระนามของจอมเทพโอดินในภาษานอร์สโบราณ Óski ที่แปลว่า "ผู้เติมเต็มความหวัง" ซึ่งเกี่ยวโยงถึงการที่โอดินรับเอานักรบผู้ถูกสังหารสู่ชีวิตใหม่ในวัลฮัลลานั่นเอง

 

ในทางศิลปะ วัลคีรีส์มักจะถูกกล่าวถึงในสัญลักษณ์ของความสวยงาม โดยจะมีลักษณะนางฟ้า สวมหมวกนักรบ ชุดเกราะ ถือหอก และขี่บนหลังม้าที่มีปีก การที่นางฟ้าเหล่านี้ล้วนแต่สวมเกราะ ถืออาวุธพร้อมสรรพผิดจากนางฟ้าทั่วไป เลยเป็นสาเหตุของสมญานามต่างๆ เช่น Battle-maiden (สตรีนักรบ) และ Shield-maiden (สตรีถือโล่) เป็นต้น

 

 

 

 

 

ตำนานเทพของชาวนอร์สบรรยายว่า เกราะของวัลคีรีส์ จะเปล่งประกายแสงเรืองรอง ซึ่งเป็นที่มาของ Aurora Borealis หรือ แสงเหนือ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่น่าพิศวงในภูมิภาคสแกนดิเนเวียนั่นเอง

 

คำว่า Shield-maiden นี้ ต่อมายังมีการนำมาใช้กับนักรบสาวไวกิ้ง ผู้กรำศึกเคียงบุรุษอย่างกล้าหาญและองอาจ ซึ่งแสดงถึงทรรศนะของสังคมไวกิ้ง ที่แม้จะให้ความสำคัญกับผู้หญิงในเรื่องการดูแลบ้านและเลี้ยงลูกมากกว่า แต่ก็ยอมรับได้เสมอครับ ถ้าจะมีผู้หญิงที่กล้าหาญและมีฝีมือในการรบ

 

แต่ในความเป็นจริง Shield-maiden ในสังคมไวกิ้งมีไม่มากนักหรอกครับ เรียกว่านับตัวคนได้เลยทีเดียว เหตุเพราะผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสฝึกอาวุธไงครับ

 

แต่ถ้าจะมีขึ้นมาสักคน นักรบไวกิ้งก็จะรู้สึกว่าเหมือนมีนางฟ้าวัลคีรีส์ร่วมรบด้วย เป็นเหมือนหลักประกันที่ช่วยให้พวกเขามีโอกาสไป วัลฮัลลา (Valhalla) บนสรวงสวรรค์อัสการ์ดมากขึ้น เรียกว่าเป็นการถือเคล็ดอย่างหนึ่งก็คงจะได้ครับ

 

Shield-maiden ที่มีชื่อเสียงที่สุดก็คือ ลาเกอร์ธา (Lagertha) ภรรยาของ รักนาร์ ล็อธบร็อค (Ragnar Loðbrók) ในซีรี่ส์ Vikings นั่นเอง เธอผู้นี้มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ครับ และว่ากันว่าตัวจริงเก่งกว่าในหนังด้วย

 

การที่นักรบไวกิ้งถือเคล็ดว่า มี Shield-maiden ก็เหมือนมีโอกาสไปวัลฮัลลาเพิ่มขึ้น ก็เพราะหน้าที่หลักๆ ของพวกวัลคีรีส์ คือการเสาะหานักรบผู้เสียชีวิตในการต่อสู้ หรือการปฏิบัติภารกิจบางอย่าง ซึ่งมีความสามารถและความกล้าหาญเพียงพอ ไปที่วัลฮัลลา
 

วิญญาณนักรบเหล่านี้เรียกว่า ไอน์แฮร์ยาร์ ( Einherjar) และนี่ก็คือที่มาของคำว่าผู้คัดเลือกเหล่าผู้วายปราณละครับ

 

 

 

 

 

ทุกๆ วัน ไอน์แฮร์ยาร์จะต้องทำการซ้อมรบด้วยอาวุธจริง เครื่องป้องกันจริง และตายจริงๆ ครับ แต่หลังจากที่ตายไปแล้วจะได้รับการชุบชีวิตขึ้นมาในตอนกลางคืน พร้อมกับเพื่อนๆ เพื่อไปดื่มกินกันอย่างมีความสุขในหอวัลฮัลลา

 

เหล่าไอน์แฮร์ยาร์จะได้รับการดูแลอย่างดีจากวัลคีรีส์ภายในนั้น รวมไปถึงหน้าที่เสิร์ฟเหล้าที่หมักจากน้ำผึ้ง (Mead) ซึ่งสังคมไวกิ้งถือว่าเป็นสุรารสเลิศ และอาหารต่างๆ อย่างอิ่มหนำสำราญอีกด้วย ทำให้วัลคีรีส์มีอีกสมญานามหนึ่งจากการนี้ว่า Mead-Maiden

 

พวกไอน์แฮร์ยาร์จะใช้ชีวิตในอัสการ์ดแบบนี้เรื่อยไปครับ จนกว่ามหาสงครามแห่งวันสิ้นโลก หรือ รักนาเริ้ค (Ragnarök) จะมาถึง ซึ่งพวกเขาจะร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับเหล่าทวยเทพในศึกครั้งสุดท้ายนั้น

 

ส่วนบรรดา Shield-Maiden และภรรยาที่ฆ่าตัวตายตามสามีผู้วายขนม์ ตลอดจนภรรยาที่ตายอย่างกล้าหาญเพื่อปกป้องทรัพย์สมบัติและลูกๆ จากผู้บุกรุก วัลคีรีส์ก็จะมารับดวงวิญญาณไปยังแดนสวรรค์อัสการ์ดเช่นกันครับ

 

แต่พวกเธอจะได้ไปอยู่ใน โฟล์ควัง (Folkwang) อันเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของมหาเทวีเฟรยาแทน พวกเธอเหล่านี้ถ้าต่อสู้ไม่เป็นก็จะได้รับการฝึกอาวุธ เพื่อร่วมรบกับสามีอีกครั้งในวันสิ้นโลกเช่นกัน

 

นอกจากนี้ วัลคีรีส์ยังมีหน้าที่เป็นผู้ส่งสารของจอมเทพโอดินในบางครั้งอีกด้วยครับ

 

ที่น่าสังเกตคือ วัลคีรีส์นั้นยังมีอีกสมญานามหนึ่งคือ Swan-maiden เพราะบางตำนานบอกว่าพวกเธอสามารถแปลงร่างเป็นหงส์ได้ครับ ในขณะที่บางตำนานกล่าวว่า มักไปไหนมาไหนโดยการสวม คราบหงส์ ไป

 

คราบหงส์ที่ว่านี้ก็คือ ปีกนกขนาดใหญ่

 

ภาพวาดวัลคีรีส์หลายภาพในปัจจุบัน เขาถึงวาดให้นางฟ้าเหล่านี้มีปีกไงครับ ปีกพวกนี้สามารถถอดได้ โดยเฉพาะเวลาเล่นน้ำ

 

 

 

 

 

แล้วที่สำคัญคือ บางตำนานก็ว่าพวกวัลคีรีส์มักใช้เวลาว่างมาอาบน้ำพักผ่อนกันในโลกมนุษย์บ่อยๆ จนบางครั้งก็ถูกชายหนุ่มแอบลักปีกไปซ่อน จนกระทั่งมีความสัมพันธ์กัน

 

หลายท่านอ่านถึงตอนนี้แล้วคงคิดเหมือนผม...ทำไมมันเหมือน กินรี ของไทยเราขนาดนี้ล่ะครับ!?!

 

เพราะกินรีตัวจริง ที่เป็นอมนุษย์จริงๆ ตามที่มีผู้ทรงฌานสมาบัติไปพบเห็นมาจากในป่าหิมพานต์ (ป่าหิมพานต์ก็มีจริงนะครับ แต่ไม่เกี่ยวอะไรกับเรื่องนอร์ส ผมขอไม่พูดยาวไปกว่านี้) ไม่ใช่ครึ่งคนครึ่งนกนะครับ แต่เป็นคนมีแขนขาเหมือนพวกเรานี่แหละ เพียงแต่มีปีกนกขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นมาด้วยอาคม เวลาจะไปไหนก็เอามาสวมบินไปเท่านั้นเอง

 

เหมือนวัลคีรีส์ยังไงยังงั้นเลยครับ

 

แล้วนิทาน พระสุธน-มโนห์รา แบบของไทยเรานี่ ที่จริงก็เป็นนิทานแพร่หลายอยู่ในชนชาติต่างๆ ที่อยู่ชายฝั่งทะเลแถบเอเชียแปซิฟิกมานานแล้ว แม้แต่ญี่ปุ่นก็มีด้วย เพราะบรรดาชนชาติเหล่านั้นต่างก็เคยเจออมนุษย์ประเภทนี้มาด้วยกันทั้งนั้นแหละครับ เลยมีเรื่องเล่าที่คล้ายๆ กัน

 

ในขณะที่ทั่วทั้งทวีปยุโรป ไม่มีชนชาติไหนมีตำนานเกี่ยวกับวัลคีรีส์เหมือนนอร์ส

 

หรือว่าแท้ที่จริงแล้ว วัลคีรีส์จะเป็นเผ่าพันธุ์อมนุษย์ประเภทเดียวกับกินรีไทย ที่อาศัยอยู่ในยุโรป ...ก็คงต้องทิ้งไว้ให้เป็นปริศนาต่อไปละครับ

 

การที่มีตำนานเรื่องวัลคีรีส์มามีความสัมพันธุ์กับชายหนุ่มชาวมนุษย์ ก็เพราะวัลคีรีส์สามารถแต่งงานอยู่กินกับมนุษย์ได้ครับ แต่นั่นจะทำให้พวกเธอสูญเสียอำนาจวิเศษของเทพธิดาไป กลายเป็นเพียงหญิงชาวมนุษย์ธรรมดาที่ต้องแก่ชรา และตายไปในที่สุด ไม่ใช่เป็นนางฟ้าซึ่งจะคงความเป็นสาวสะพรั่งตลอดกาล

 

ตัวอย่างก็เช่น บรินด์ฮิลด์ (Brynhild) จากเทพนิยายเรื่องซิกฟรีดผู้ฆ่ามังกรไงครับ

 

 

 

 

 

วัลคีรีส์อื่นที่เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักอ่านตำนานเทพยุโรปเหนือ นอกจากบรินฮิลด์แล้ว ได้แก่ ฮิลด์ (Hild), ซิกร์ดรีฟา (Sigdrifa), ซิกรูน (Sigrun), สวาฟา (Swafa), ธรูด (Thrud) และ กูดรูน (Gudrun) แต่ที่จริงยังมีบทกวีที่เผยชื่อของวัลคีรีส์ต่างๆ อีกเป็นอันมาก

 

ในฐานะข้าราชบริพารของจอมเทพโอดิน เหล่าวัลคีรีส์จะรับคำบัญชาทั้งจากจอมเทพโอดิน และมหาเทวีเฟรยา ซึ่งทรงเป็นนางพญาผู้ควบคุมดูแลเหล่าวัลคีรีส์โดยตรง เราจึงมักจะได้เห็นมหาเทวีเฟรยาฉลองพระองค์ด้วยหมวกมีปีก (Winged Helmet) และชุดเกราะทับกระโปรง ถือโล่และหอกแบบวัลคีรีส์ไงครับ โดยนัยนี้พระนางก็จะถือว่าเป็นนางพญายม เคียงคู่จอมเทพโอดินซึ่งเป็น ยมราช ในสงครามต่างๆ

 

ดังนั้น บรรดาภาพวาดวัลคีรีส์ทั้งหลายแหล่ที่เห็นๆ กันอยู่ ถ้าไม่มีการระบุว่าเป็นวัลคีรีส์ ก็อาจใช้แทนมหาเทวีเฟรยาได้ครับ

 

 

ตำนานเรื่องเสื้อคลุมขนนกของมหาเทวีเฟรยา ที่กล่าวกันว่าพระนางต้องทรงสวมใส่เพื่อจะบินไปไหนมาไหนได้นั้น ก็มาจาก คราบหงส์ หรือปีกของพวกวัลคีรีส์เหมือนกัน ไม่ใช่สิ่งที่มีมาคู่กับทิพยภาวะของเทวีองค์นี้มาแต่เดิมครับ

ที่มา https://runesdivinator.blogspot.com/2016/03/blog-post.html

image.png
bottom of page